ประวัติความเป็นมาของสถานีตำรวจภูธรลับแล

ก่อสร้างเมื่อปี พ.ศ.2484

  • โดยมี ร.ต.ต.กมล เดโชชัย ตำแหน่ง ผู้บังคับกองเป็นหัวหน้าสถานี

อาคารที่ทำการหลังเก่าที่รื้อถอน

  • เนื่องจากได้รับงบประมาณปี ๒๕๕๗ ก่อสร้าง สภ.ทดแทนหลังเดิม
  • จำนวน ๒๘.๑๕ ล้านบาท

เข้าใช้อาคารที่ทำการเมื่อเดือน กันยายน 2560

คำขวัญเมืองลับแล
งามพระแท่นศิลาอาสน์
ถิ่นลางสาดรสดี
เมืองพระศรีพนมมาศ
แหล่งไม้กวาดตองกง
ดงหอมแดงเลื่องชื่อ
นามระบือ ตำนานเมืองแม่ม่าย

  • 1. ถนนอินใจมี   เริ่มต้นจาก  อ.เมืองอุตรดิตถ์  สิ้นสุดที่น้ำตกแม่พูล  ระยะทาง 8 กิโลเมตร เป็นถนนลาดยาง
  • 2. ถนนศรีพนมมาศ เริ่มต้น อ.ลับแล  ไปทางสามแยกพระแท่นศิลาอาสน์ ติดต่อถนนสายอุตรดิตถ์-ศรีสัชนาลัย  ระยะทาง 6 กิโลเมตร  เป็นถนนลาดยาง
  • 3.  ถนน ร.พ.ช. แยกจากถนนสายอุตรดิตถ์-เขื่อนสิริกิติ์ อ.เมือง  ผ่านตำบลนานกกก  ไปติดต่อกับถนนสายเขาน้ำตก ที่ตลาดหัวดง  ระยะทาง  25  กิโลเมตร

ตำนานเมืองลับแล

เรื่องลี้ลับเล่าขานของตำนานพื้นบ้าน มีมาแต่อดีตเรื่องราวเก่าแก่ที่เล่ากันสืบทอดต่อกันมา “อำเภอลับแล หรือ เมืองลับแล เป็นอำเภอหนึ่งในจังหวัดอุตรดิตถ์ เป็นชุมชนโบราณมีมาตั้งแต่สมัยกรุงสุโขทัย1 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้เคยเสด็จมาเมื่อ ปี พ.ศ. 2444 ความเป็นมาของคำว่า “ลับแล” นั้น ตามข้อสันนิษฐานของสมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพ

ว่าเดิมชาวเมืองแพร่   เมืองน่าน   หนีข้าศึกและความเดือดร้อนมาซุ่มซ่อนตั้งชุมชนอยู่บริเวณนี้ เนื่องจากเป็นที่ป่ารก หลบซ่อนตัวง่ายและ ภูมิประเทศเป็นเมืองอยู่ในหุบเขามีที่เนินสลับกับที่ต่ำ คนต่างเมืองถ้าไม่คุ้นเคยกับภูมิประเทศจะหลงทางได้ง่าย อำเภอลับแลนอกจากจะมีโบราณสถานที่น่าสนใจมากมายแล้ว ยังเป็นแหล่งผลิตสินค้าหัตถกรรมพื้นเมืองล้านนา เช่น ผ้าตีนจก ไม้กวาด เป็นแหล่งปลูกลางสาด และทุเรียนหลง-หลินลับแล ซึ่งเป็นผลไม้ที่มีชื่อเสียงของจังหวัด หลักฐานทางประวัติศาสตร์ แต่เดิมเคยเป็นเมืองใหญ่ที่เป็นชุมชนของพวกละว้าและขอม มีความเจริญรุ่งเรืองมาช้านาน เพราะได้มีการขุดพบกลองมโหระทึกและพร้าสําริด ได้ในบริเวณดังกล่าว เมื่ออาณาจักรขอมล่มสลายลง คนไทยก็ได้เข้ามาครอบครอง

             เมืองลับแลนั้นเป็นอำเภอเล็กๆ การเดินทางไปมาไม่สะดวก เส้นทางคดเคี้ยว ทำให้คนที่ไม่ชำนาญทางพลัดหลงได้ง่าย จนได้ชื่อว่าเมืองลับแล ซึ่งแปลว่า มองไม่เห็น มีเรื่องเล่ากันว่าคนมีบุญเท่านั้นจึงจะได้เข้าไปถึงเมืองลับแล ตำนานนี้เล่ากันสืบมาว่า….. ครั้งหนึ่งมีชายคนหนึ่ง (น่าจะเป็นคนเมืองทุ่งยั้ง) เข้าไปในป่า ได้เห็นหญิงสาวสวยหลายคนเดินออกมา ครั้นมาถึงชายป่า นางเหล่านั้นก็เอาใบไม้ที่ถือมาไปซ่อนไว้ในที่ต่างๆ แล้วก็เข้าไปในเมือง ด้วยความสงสัยชายหนุ่มจึงแอบหยิบใบไม้มาเก็บไว้ใบหนึ่ง ตกบ่ายหญิงสาวเหล่านั้นกลับมา ต่างก็หาใบไม้ที่ตนซ่อนไว้ ครั้นได้แล้วก็ถือใบไม้นั้นเดินหายลับไป

มีหญิงสาวคนหนึ่งหาใบไม้ไม่พบ   เพราะชายหนุ่มแอบหยิบมา  นางวิตกเดือดร้อนมาก  ชายหนุ่มจึงปรากฏตัวให้เห็นและคืนใบไม้ให้ โดยมีข้อแลกเปลี่ยนคือ ขอติดตามนางไปด้วยเพราะปรารถนาจะได้เห็นเมืองลับแล หญิงสาวก็ยินยอม นางจึงพาชายหนุ่มเข้าไปยังเมืองซึ่งชายหนุ่มสังเกตเห็นว่าทั้งเมืองมีแต่ผู้หญิง นางอธิบายว่าคนในหมู่บ้านล้วนมี ศีลธรรม ถือวาจาสัตย์ ใครประพฤติผิดก็ต้องออกจากหมู่บ้านไป ผู้ชายส่วนมากมักไม่รักษาวาจาสัตย์จึงต้องออกจากหมู่บ้านกันไปหมด แล้วนางก็พาชายหนุ่มไปพบมารดาของนาง ชายหนุ่มเกิดความรักใคร่ในตัวนางจึงขออาศัยอยู่ด้วย มารดาของหญิงสาวก็ยินยอม แต่ให้ชายหนุ่มสัญญาว่าจะต้องอยู่ในศีลธรรม ไม่พูดเท็จ ชายหนุ่มได้แต่งงานกับหญิงสาวชาวลับแลจนมีบุตรชายด้วยกัน 1 คน วันหนึ่งขณะที่ภรรยาไม่อยู่บ้าน ชายหนุ่มผู้พ่อเลี้ยงบุตรอยู่ บุตรน้อยเกิดร้องไห้หาแม่ไม่ยอมหยุด ผู้เป็นพ่อจึงปลอบว่า “แม่มาแล้วๆ” มารดาของภรรยาได้ยินเข้าก็โกรธมากที่บุตรเขยพูดเท็จ เมื่อบุตรสาวกลับมาก็บอกให้รู้เรื่อง ฝ่ายภรรยาของชายหนุ่มเสียใจมากที่สามีไม่รักษาวาจาสัตย์ นางบอกให้เขาออกจากหมู่บ้านไปเสีย แล้วนางก็จัดหาย่ามใส่เสบียงอาหารและของใช้ที่จำเป็นให้สามี พร้อมทั้งขุดหัวขมิ้นใส่ลงไปด้วยเป็นจำนวนมาก จากนั้นก็พาสามีไปยังชายป่า ชี้ทางให้ แล้วนางก็กลับไปเมืองลับแลชายหนุ่มไม่รู้จะทำอย่างไรก็จำต้องเดินทางกลับบ้านตามที่ภรรยาชี้ทางให้ ระหว่างทางที่เดินไปนั้น เขามีความรู้สึกว่าถุงย่ามที่ถือมาหนักขึ้นเรื่อยๆ และหนทางก็ไกลมาก จึงหยิบเอาขมิ้นที่ภรรยาใส่มาให้ทิ้งเสียจนเกือบหมด ครั้นเดินทางกลับไปถึงหมู่บ้านเดิม บรรดาญาติมิตรต่างก็ซักถามว่าหายไปอยู่ที่ไหนมาเป็นเวลานาน ชายหนุ่มจึงเล่าให้ฟังโดยละเอียด รวมทั้งเรื่องขมิ้นที่ภรรยาใส่ย่ามมาให้แต่เขาทิ้งไปเกือบหมด เหลืออยู่เพียงแง่งเดียว พร้อมทั้งหยิบขมิ้นที่เหลืออยู่ออกมา ปรากฏว่าขมิ้นนั้นกลับกลายเป็นทองคำทั้งแท่ง

ชายหนุ่มรู้สึกแปลกใจและเสียดาย จึงพยายามย้อนไปเพื่อหาขมิ้นที่ทิ้งไว้ ปรากฏว่าขมิ้นเหล่านั้นได้งอกเป็นต้นไปหมดแล้ว และเมื่อขุดดุก็พบแต่แง่งขมิ้นธรรมดาที่มีสีเหลืองทอง แต่ไม่ใช่ทองเหมือนแง่งที่เขาได้ไป เขาพยายามหาทางกลับไปเมืองลับแล แต่ก็หลงทางวกวนไปไม่ถูก จนในที่สุดก็ต้องละความพยายามกลับไปอยู่หมู่บ้านของตนตามเดิม

               เมืองลับแลเดิมนั้นสันนิษฐานว่าเป็นชุมชนในสมัยสุโขทัยก่อนจะร้างลงในช่วงหลัง ดังการพบหลักฐานปฐมภูมิ คือศิลาจารึกซึ่งขุดได้ที่หน้าวิหารวัดเจดีย์คีรีวิหาร มหาอำมาตย์ตรี พระยานครพระราม ส่งเข้าหอสมุดวชิรญาณ เมื่อวันที่ 28 ธันวาคม พ.ศ. 2473 ศาสตราจารย์ ดร.ประเสริฐ ณ นคร ให้ความเห็นว่าเนื้อหาจารึกน่าจะกล่าวตั้งแต่ครั้งเมื่อพระยาลิไทยขึ้นเสวยราชย์

ประกอบกับเนื้อหาในศิลาจารึก การสถาปนาพระบรมธาตุโดยพระยาลิไทย สอดคล้องกับลักษณะของฐานพระเจดีย์วัดเจดีย์คีรีวิหาร ที่มีเค้าโครงของฐานเขียงสามชั้นแบบสุโขทัย ศิลาจารึกดังกล่าวจึงเป็นเครื่องยืนยันว่าที่ตั้งเมืองลับแลในปัจจุบัน เป็นชุมชนโบราณมาตั้งแต่สมัยสุโขทัย ก่อนจะถูกทิ้งร้างและมีการอพยพเทครัวชาวเชียงแสนมาตั้งรกรากเพิ่มเติมในช่วงหลัง

สถานภาพโดยทั่วไป

ลักษณะภูมิประเทศ

                    อำเภอลับแลมีพื้นที่ 506.02  ตร.กม.  ลักษณะส่วนมากเป็นป่าและภูเขา   และเป็นที่ราบลุ่มในตอนกลางและตอนใต้   

                    ตอนเหนือ    ตำบลฝายหลวง  ตำบลแม่พูล  และตำบลนานกกก  พื้นที่ส่วนใหญ่เป็นภูเขาที่ไม่สูงมากนัก  ยกเว้นตอนเหนือสุดของตำบลแม่พูล ที่ติดต่อกับอำเภอเด่นชัย  จังหวัดแพร่  ภูเขาที่มีความสูงเป็นแหล่งต้นน้ำลำธารหล่อเลี้ยงพืชผลได้ตลอดปี  บริเวณนี้จะมีที่ราบระหว่างภูเขาเพียงเล็กน้อย

                    ตอนกลาง  ในเขตพื้นที่ตำบลชัยจุมพล   ตำบลศรีพนมมาศ  และบางส่วนของตำบลฝายหลวง มีลักษณะพื้นที่เป็นลอนคลื่นสูง ๆ ต่ำ ๆ  บริเวณที่เนินจะเป็นที่ตั้งบ้านเรือนที่อยู่อาศัย  ส่วนที่ราบจะเป็นที่ทำการเพาะปลูก

                    ตอนใต้  ในเขตพื้นที่ตำบลไผ่ล้อม  ตำบลทุ่งยั้ง  และตำบลด่านแม่คำมัน  เป็นที่ราบ  เหมาะสำหรับการทำนา  และทางทิศตะวันตกเฉียงใต้ของอำเภอ  ในท้องที่ตำบลไผ่ล้อม ตำบลทุ่งยั้ง และตำบลด่านแม่คำมัน  เป็นบึงใหญ่มีเนื้อที่ประมาณ 6,800 ไร่  เรียกว่า บึงมาย  เป็นแหล่งน้ำที่สำคัญของของบริเวณดังกล่าว

          อาณาเขต

                    ทิศเหนือ                   ติดอำเภอเด่นชัย  จังหวัดแพร่
                    ทิศใต้                       ติดอำเภอตรอน จังหวัดอุตรดิตถ์  และอำเภอศรีสัชนาลัย
จังหวัดสุโขทัย
                    ทิศตะวันออก              ติดอำเภอเมือง  จังหวัดอุตรดิตถ์
                    ทิศตะวันตก                ติดอำเภอศรีสัชนาลัย จังหวัดสุโขทัย

          การคมนาคม

                    การคมนาคมในพื้นที่ของอำเภอลับแล
                    1. ถนนอินใจมี   เริ่มต้นจาก  อ.เมืองอุตรดิตถ์  สิ้นสุดที่น้ำตกแม่พูล  ระยะทาง 8 กิโลเมตร เป็นถนนลาดยาง
                    2. ถนนศรีพนมมาศ  เริ่มต้น อ.ลับแล  ไปทางสามแยกพระแท่นศิลาอาสน์ ติดต่อถนนสายอุตรดิตถ์-ศรีสัชนาลัย  ระยะทาง 6 กิโลเมตร  เป็นถนนลาดยาง
                    3.  ถนน ร.พ.ช.  แยกจากถนนสายอุตรดิตถ์-เขื่อนสิริกิติ์ อ.เมือง  ผ่านตำบลนานกกก  ไปติดต่อกับถนนสายเขาน้ำตก ที่ตลาดหัวดง  ระยะทาง  25  กิโลเมตร

          ลักษณะภูมิอากาศ

                    ภูมิอากาศทั่วไปมี 3 ฤดู คือ ฤดูฝน  ฤดูหนาว  และฤดูร้อน  แต่ภูมิอากาศส่วนใหญ่ของอำเภอลับแล จะมีอากาศเย็นในช่วงค่ำถึงตอนเช้าในฤดูร้อน  จึงทำให้ไม่ค่อยร้อนในหน้าร้อน

การปกครอง

                    อำเภอลับแล  มี 8 ตำบล  71 หมู่บ้าน/ชุมชน, 3 เทศบาล  และ  7  องค์การบริหารส่วนตำบล คือ
                              1.  ตำบลศรีพนมมาศ              จำนวน       6   ชุมชน
                              2.  ตำบลฝายหลวง                 จำนวน    13    หมู่บ้าน
                              3.  ตำบลแม่พูล                      จำนวน    11    หมู่บ้าน
                              4.  ตำบลชัยจุมพล                  จำนวน    11    หมู่บ้าน
                              5.  ตำบลนานกกก                   จำนวน      5    หมู่บ้าน
                              6.  ตำบลด่านแม่คำมัน             จำนวน      8    หมู่บ้าน
                              7.  ตำบลไผ่ล้อม                     จำนวน      7    หมู่บ้าน
                              8.  ตำบลทุ่งยั้ง                       จำนวน     10   หมู่บ้าน

                    มีการปกครองเป็นเทศบาลตำบล จำนวน     3    แห่ง
                              1.  เทศบาลตำบลศรีพนมมาศ
                              2.  เทศบาลตำบลหัวดง
                              3.  เทศบาลตำบลทุ่งยั้ง

                    มีการปกครองเป็นองค์การบริหารส่วนตำบล  จำนวน    7 แห่ง    
                              1.  องค์การบริหารส่วนตำบลแม่พูล
                              2.  องค์การบริหารส่วนตำบลฝายหลวง
                              3.  องค์การบริหารส่วนตำบลนานกกก
                              4.  องค์การบริหารส่วนตำบลชัยจุมพล
                              5.  องค์การบริหารส่วนตำบลไผ่ล้อม
                              6.  องค์การบริหารส่วนตำบลทุ่งยั้ง
                              7.  องค์การบริหารส่วนตำบลด่านแม่คำมัน
          ประชากร       ประชากร 55,109 คน( ชาย  26,928  คน   หญิง  18,181  คน

-ข้อมูล ณ เดือน  มกราคม พ.ศ.2566

          พื้นที่รับผิดชอบ   
                  สถานีตำรวจภูธรลับแล รับผิดชอบ 353.28  ตารางกิโลเมตร
                    มีพื้นที่รับผิดชอบ  จำนวน  5  ตำบล  44  หมู่บ้าน/ชุมชน  คือ
                              1.  ตำบลศรีพนมมาศ              จำนวน     6     ชุมชน
                              2.  ตำบลฝายหลวง                 จำนวน  13     หมู่บ้าน
                              3.  ตำบลแม่พูล                     จำนวน  11     หมู่บ้าน
                              4.  ตำบลชัยจุมพล                  จำนวน    9     หมู่บ้าน(*ยกเว้น หมู่ที่ 6,7)
                              5.  ตำบลนานกกก                  จำนวน     5     หมู่บ้าน

                    มีเทศบาล  จำนวน   2   แห่ง
                             1. เทศบาลตำบลศรีพนมมาศ
                             2. เทศบาลตำบลหัวดง

                    มีองค์การบริหารส่วนตำบล จำนวน   4   แห่ง
                              1.  องค์การบริหารส่วนตำบลแม่พูล
                              2.  องค์การบริหารส่วนตำบลฝายหลวง
                              3.  องค์การบริหารส่วนตำบลนานกกก
                              4.  องค์การบริหารส่วนตำบลชัยจุมพล

สถานที่สำคัญ

                    1.  มีธนาคาร    2  แห่ง  คือ
                              1.1  ธนาคารออมสิน  (ติดตั้งสัญญาณเตือนภัย)
                              1.2  ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์
                    2.  ร้านทอง  1  แห่ง  (ติดตั้งสัญญาณเตือนภัย)
                    3.  ร้านเซเว่น อีเลฟเว่น(7-Eleven)  3  แห่ง
                    4.  โรงเรียน 14  แห่ง

                    5.  วัด            22  แห่ง

          อาชีพ

                    ประชากรส่วนใหญ่ประกอบอาชีพ ทำไร่  ทำนา  และทำสวนทุเรียน  ลางสาด  มังคุด  นอกจากนี้ยังมีอาชีพทำผ้านวม  ทอผ้าซิ่นตีนจก  และทำไม้กวาดตองกง  ซึ่งในปีหนึ่ง ๆ  มีเงินไหลเวียนเข้ามาในอำเภอลับแลไม่น้อย

          สถานที่ท่องเที่ยว     

                      พิพิธภัณฑ์เมืองลับแลเพื่อถ่ายทอดความเป็นเมืองลับแลตั้งแต่อดีตถึงปัจจุบัน ซึ่งอยู่ระหว่างการก่อสร้างโดยจะมีการแบ่งพิพิธภัณฑ์  เป็น 2 ส่วน  คือส่วนของเรือนโบราณที่จะมีการถ่ายทอดความเป็นเมืองลับแล ทั้งด้านวิถีชีวิตความเป็นอยู่ ด้านอาหารการกิน ด้านอาชีพ ด้านการแต่งกาย ด้านประเพณีวัฒนธรรม ด้านศิลปวัฒนธรรมพื้นถิ่น ด้านภาษาและด้านความเชื่อ

น้ำตกแม่พูล  เป็นต้นน้ำลำธาร  ไหลจากไหล่เขาทางทิศเหนือลงมาทางใต้  เหมาะสำหรับเป็นที่พักผ่อน  และยังเป็นที่ประดิษฐานพระป่าปางเลไลย์  ซึ่งเป็นที่สักการะของประชาชนทั่วไป  น้ำตกแม่พูลตั้งอยู่ หมู่ที่ 4  ต.แม่พูล  อ.ลับแล  ทางลาดยางตลอดสาย  ห่างจาก  สภ.ลับแล  ประมาณ  12  กิโลเมตร

วัดดอนสัก  มีโบราณสถานวิหารทรงรูปเรือ  มีบานประตูเป็นบานไม้สักแกะสลักสวยงาม เป็นฝีมือช่างสมัยอยุธยาตอนต้น  จะมีประชาชน   นักเรียน   นักศึกษา มาเที่ยวชมอยู่เป็นประจำ  ตั้งอยู่ หมู่ที่ 3  ต.ฝายหลวง  อ.ลับแล  ห่างจาก สภ.ลับแล ประมาณ 12 กิโลเมตร